วันหัวใจโลก

โรคหลอดเลือดหัวใจ
29 กันยายน ของทุกปี เป็นวันหัวใจโลก “Be A Heart Hero…Make A Heart Promise จงกล้าท้าทาย พันธสัญญาแห่งใจ” โดยในปี 2562 เน้นการรณรงค์ในประชากรทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ กลุ่มเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะอ้วน สูบบุหรี่ และไขมันในเลือดสูง
อาการที่บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ มักเหนื่อยง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะเวลาทำงาน จุกแน่นหน้าอก จะมีอาการจุกบริเวณยอดอกตรงกลางมักเป็นในขณะออกกำลังกาย หลังจากหยุดออกกำลังกายอาการจะดีขึ้น มีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ และอาการเจ็บนี้จะปวดร้าวไปที่หัวไหล่ซ้ายหรือไปที่กราม ถ้าอาการเจ็บหน้าอกนี้เป็นนานเกินกว่า 3 – 5 นาที พักแล้วไม่ทุเลาหรืออาการเจ็บรุนแรงขึ้นเรื่อยๆต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจสามารถรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนพร้อมใส่ขดลวดค้ำยัน และการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดิน หลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการวินิจฉัยของอายุรแพทย์หัวใจ
สำหรับแนวทางการดูแลหัวใจของเราให้แข็งแรงควรปฏิบัติดังนี้ 1. ดูแลตนเองไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง 2. ควบคุมน้ำตาลในเลือด 3. ควบคุมความดันโลหิต 4.ควบคุมไขมันในเลือด 5. งดสูบบุหรี่ 6.พักผ่อนให้เพียงพอ 7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน 8. เลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
สัญญา…ว่าจะดื่มกินอย่างชาญฉลาด
1. ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลและน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน ควรเลือกบริโภคน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ ที่มีรสไม่หวานแทน 2. เปลี่ยนจากการกินขนมหวานมากินผลไม้สดแทน เพื่อทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ 3. พยายามกินผักผลไม้ 5 ส่วนต่อวัน (สด แช่แข็ง อบแห้ง หรือกระป๋องก็ได้) 4. งดดื่มแอลกอฮอล์หรือควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม 5. พยายามงดเว้นอาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ซึ่งล้วนมีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง 6. ควรจัดเตรียมอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับมื้อกลางวันมาจากบ้าน 
สัญญา…ว่าจะกระฉับกระเฉงมากขึ้น
1. ตั้งเป้าอย่างน้อย 30 นาที กับการออกกำลังกายในระดับเข้มข้น 5 ครั้งต่อสัปดาห์ 2. เล่นกีฬา เดิน ทำงานบ้าน เต้นรำ ล้วนเป็นการออกกำลังกาย 3. เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ และบันไดเลื่อน เดินหรือปั่นจักรยานแทนการขับรถ 4. การออกกำลังกายกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวจะช่วยจูงใจหรือกระตุ้นการอยากออกกำลังกาย มากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น 5. ใช้แอพพลิเคชั่นที่บอกถึงระดับการออกกำลังกาย หรือเครื่องนับก้าวเดินเพื่อช่วยบอกถึงการออกกำลังกาย และสุขภาพได้
สัญญา…ว่าจะโบกมือลาบุหรี่
1. เลิกบุหรี่เป็นสิ่งเดียวที่ดีที่สุดที่ดูแลหัวใจให้มีสุขภาพดี 2. เลิกบุหรี่ภายใน 2 ปี จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 3. ภายใน 15 ปี ความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่ 4. การสูดดมควันบุหรี่ของผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ก็ทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 5. เลิกบุหรี่นอกจากจะช่วยตัวคุณเองสุขภาพดีขึ้นแล้ว ยังมีผลดีต่อคนรอบข้างด้วย 6. ถ้าไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วยตัวเองควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และควรร้องขอกับนายจ้างหากที่ทำงาน ไม่มีบริการช่วยในการเลิกสูบบุหรี่

ใส่ความเห็น

Related Post