สุขภาพช่องปาก ปัญหาที่ไม่เล็กของผู้สูงอายุ

สุขภาพช่องปาก
ในยุคที่สังคมผู้สูงวัยเป็นเรื่องใกล้ตัว การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพช่องปากที่อาจดูเป็นเรื่องเล็กในความคิดของใครหลายคน แต่กลับส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุอย่างมาก
เรื่องนี้ พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ให้ข้อมูลปัญหาสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุในปี พ.ศ. 2560 พบว่า ร้อยละ 95 สามารถทำกิจวัตรพื้นฐานที่ใกล้ตัวได้ด้วยตนเอง แต่จะมีปัญหาเรื่องการมองเห็น ได้ยิน และสุขภาพช่องปาก ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่พบเป็นอันดับแรก และมีปัญหาต่อเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่นำไปสู่การป่วยโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีปัญหาโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว และความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าตัว
“การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปากและฟันที่สะอาดจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายไม่เจ็บปวด ไม่มีกลิ่นปาก กินอาหารได้ตามปกติ ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ โดยเฉพาะปัญหาปอดติดเชื้อจากการสำลัก (aspiration pneumonia) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้” พญ.ลัดดา ย้ำ
นอกจากนี้ยังพบว่า หากทำความสะอาดช่องปากให้ดีขึ้น อาจลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะปอดอักเสบของผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราได้ 1 ใน 10 ดังนั้นการดูแลช่องปากอย่างดีจะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขและส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอีกด้วย
5 ปัญหาช่องปาก ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
1. ภาวะปากแห้ง ผู้สูงอายุที่มีภาวะปากแห้ง คอแห้ง น้ำลายน้อย น้ำลายหนืด และกลืนลำบาก ให้จิบน้ำบ่อย ๆ อย่างน้อย วันละ 8-12 แก้ว หรือ 2-3 ลิตร (ยกเว้นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่ต้องระมัดระวังเรื่องปริมาณของน้ำดื่ม เช่น ผู้ป่วยโรคไตควรปรึกษาแพทย์) อาจให้ดื่มน้ำซุป เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล ผู้ดูแลอาจตั้งขวดน้ำไว้ใกล้ ๆ ผู้สูงอายุเพื่อให้ไม่ลืมดื่มน้ำ ถ้าน้ำลายน้อยหรือหนืดมากอาจต้องใช้น้ำลายเทียมช่วย หรือหากริมฝีปากแห้ง ให้ใช้ลิปมันหรือปิโตรเลียม เจลลี่ได้ (แต่ไม่ควรใช้ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันต่ำเพราะอาจติดเชื้อ)
นอกจากนี้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสูตรน้ำ เช่น เควายเจล หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัดหรือร้อนจัด หลีกเลี่ยงยาสูบประเภทต่าง ๆ หลีกเลี่ยงกาแฟและสุราซึ่งทำให้ปากแห้งมากขึ้น ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ แต่ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์
ผู้ดูแลสามารถทำน้ำยาบ้วนปากให้ผู้สูงอายุเองได้ โดยผสมเกลือครึ่งช้อนชาในน้ำอุ่น 1 แก้ว หรือผสมเกลือครึ่งช้อนชา และโซดาทำขนม (โซเดียมไบคาร์บอเนต) ครึ่งช้อนชา ลงในน้ำ 1 แก้ว ให้ผู้สูงอายุใช้บ้วนปาก หรือผู้ดูแลอาจใช้ผ้าชุบน้ำยานี้เช็ดช่องปาก ฟัน เหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และลิ้นให้ผู้สูงอายุ
#สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด นอกจากจะปากแห้งแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อราในปาก อาการที่ปรากฏคือ มีฝ้าขาวหรือรอยแดงปนขาว โดยเฉพาะบริเวณใต้ฟันปลอมหรือมุมปาก ถ้าพบอาการเช่นนี้ให้ปรึกษาบุคลากรสาธารณสุขเพื่อพิจารณาว่าจะใช้ยาต้านเชื้อราหรือไม่
2. เยื่อบุช่องปากอักเสบ เป็นอาการที่เยื่อบุอ่อนภายในช่องปากและรอบ ๆ ริมฝีปากอักเสบ จะมีความรู้สึกเจ็บปวดมากเวลาอ้าปากหรือเวลารับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว เผ็ด ร้อน สาเหตุของโรคอาจเกิดจากการแพ้ยา ถูกสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง หรือเป็นผลมาจากระบบภูมิต้านทานของคนไข้มีการเปลี่ยนแปลง
วิธีการดูแลควรให้ผู้ดูแลใช้น้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% (เกลือครึ่งช้อนชา ผสมน้ำ 1 แก้ว) หรือผสมโซดาทำขนมประมาณ ¼ ช้อนชากับเกลือ ¼ ช้อนชาในน้ำ 1 แก้วให้ผู้สูงอายุอมวันละ 5-6 ครั้ง ครั้งละ 1-2 นาที
3. แผลมุมปาก อาการที่ปรากฏคือ เนื้อเยื่อมุมปากมีสีซีด ยุ่ย เป็นแผลแตก ระคายเคือง เจ็บปวดขณะอ้าปาก สาเหตุเกิดจากมุมปากแห้ง น้ำลายเอ่อมุมปาก ขนาดของฟันปลอมไม่ถูกต้อง ทานยาปฏิชีวนะมานาน หรือขาดวิตามินบี นอกจากนี้อาจมีการติดเชื้อราร่วมด้วย
การดูแลเบื้องต้นทำได้โดยใช้ผ้าสะอาดเช็ดน้ำลายที่มุมปากให้แห้งเสมอ ทาลิปมันหรือปิโตรเลียม เจลลี่บรรเทาอาการปากแห้ง และส่งให้ทันตแพทย์รักษาและแก้ไขสาเหตุต่อไป
4. กลิ่นปาก เป็นสาเหตุทางกายภาพ (Physiologic Halitosis) เกิดจากกระบวนการย่อยสลายปกติภายในช่องปาก เช่น หลังตื่นนอนในเวลาเช้าหรือกลิ่นจากอาหารบางประเภท ซึ่งปัญหากลิ่นปากมักเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุกังวลใจ ซึ่งแก้ไขได้โดยแปรงฟันให้สะอาดและแปรงลิ้น เพราะการแปรงลิ้นจะช่วยกำจัดคราบที่เกาะหนาบนลิ้นอันเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก ควรจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้น้ำลายไม่หนืด ตรวจดูว่าผู้สูงอายุมีอาการปากแห้ง เหงือกอักเสบ หรือมีเศษอาหารติดในช่องปากหรือไม่ นอกจากนี้อาจใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดไม่มีแอลกอฮอล์ร่วมด้วย
5. ภาวะกลืนลำบาก คือภาวะที่ผู้สูงอายุกลืนอาหารของเหลว หรือน้ำลงสู่ลำคอได้ยากกว่าปกติ อาการที่แพทย์หรือนักกิจกรรมบำบัดใช้ประเมินว่าผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก ได้แก่ อาการกล้ามเนื้อรอบปากอ่อนแรง ริมฝีปากปิดไม่สนิทจนน้ำลายไหล ชอบเก็บอาหารไว้ที่กระพุ้งแก้มกล้ามเนื้อรอบปากขยับได้ช้าขณะเคี้ยว ภาวะกลืนลำบากอาจทำให้เกิดปัญหาในช่องปาก เช่น มีอาหารตกค้างบริเวณกระพุ้งแก้ม มีแผ่นคราบจุลินทรีย์สะสมในปริมาณมากฟันผุง่ายขึ้น มีโอกาสปากแห้งได้มากขึ้น และสำลักได้ง่าย
การดูแลสุขอนามัยช่องปากสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบาก ทำได้โดยแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์เช่นเดียวกับผู้สูงอายุติดเตียงทั่วไป แต่ต้องระมัดระวังท่าทางเป็นพิเศษ ผู้ดูแลควรจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ในท่านั่งเอนหลัง ให้ศีรษะสูงจากพื้นโดยทำมุมประมาณ 30-45 องศา แล้วช่วยประคองบริเวณคอ จากนั้นสังเกตว่ามีอาหารค้างอยู่ที่กระพุ้งแก้มและลิ้นหรือไม่ หากมีให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ กวาดเศษอาหาร คราบต่าง ๆ เสมหะ หรือน้ำลายเหนียวออกให้มากที่สุด แล้วแปรงฟันด้วยแปรงสีฟันขนอ่อนนุ่ม และยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ บีบยาสีฟันเพียงเล็กน้อยโดยไม่ต้องจุ่มน้ำ คอยใช้ผ้าซับน้ำและน้ำลายเป็นระยะเมื่อแปรงเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดปากให้สะอาด
#กรณีผู้สูงอายุที่ไม่มีฟัน ให้ใช้แปรงขนอ่อนนุ่มแปรง หรือใช้ผ้าเช็ดบริเวณเหงือก เพดาน กระพุ้งแก้ม และลิ้นในกรณีที่แพทย์หรือนักกิจกรรมบำบัดตรวจประเมินแล้วพบว่า ผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก อาจแนะนำให้ออกกำลังกล้ามเนื้อรอบปากเพื่อกระตุ้นการกลืน โดยจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ในท่านั่งที่มั่นคง อาจยกหัวเตียงสูงขึ้นหรือใช้หมอนหนุนให้อยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน โดยหลังทำมุมเกือบ ตั้งฉากหรือทำมุม 30-60 องศาจากพื้น ห้ามให้ผู้สูงอายุแหงนคอเพราะอาจสำลักเงียบได้ อธิบายให้ผู้สูงอายุฟังด้วยนน้ำเสียงที่ชัดเจนเพื่อกระตุ้นให้ตื่นตัวแต่ไม่ควรตะโกน จากนั้นให้เริ่มบริหารกล้ามเนื้อรอบปากโดยใช้นิ้วโป้งกดลง ตรงกลางริมฝีปากบนแล้ววนเป็นวงกลม (ตามเข็มนาฬิกา) ลงมายังริมฝีปากล่าง ก่อนจะกลับมาบรรจบที่จุดตั้งต้น
พญ.ลัดดา กล่าวอีกว่า แม้ว่าจะอยู่ในวัยสูงอายุ แต่ก็ยังคงสามารถรักษาสุขภาพเหงือกและฟันที่ดี และคงสภาพการใช้งานให้นานที่สุดได้  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะโภชนาการที่เพียงพอ มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งแล้ว และการเอาใจใส่ดูแลอนามัยช่องปากด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ

ที่มา: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ใส่ความเห็น

Related Post