คนทั่วไปรู้จักการตรวจสุขภาพกายโดยการตรวจความดันโลหิต ตรวจเลือด เอกซเรย์ปอด และตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ น้อยคนนักจะเข้าใจถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ นอกจากตัวเองหรือคนใครอบครัวจะเป็นโรคตาจึงจะเข้าใจดี
หลายคนตรวจพบความผิดปกติโดยบังเอิญ เช่น ต้อหินหรือสายตาผิดปกติโดยไม่ทราบมาก่อน เพราะไม่เคยทดสอบการมองเห็นด้วยตนเองด้วยการปิดตาทีละข้าง
จักษุแพทย์ตรวจอะไรบ้าง?
– ตรวจการมองเห็น โดยการทดสอบการมองเห็นทีละข้าง ถ้าผิดปกติจะต้องหาสาเหตุว่าเป็นจากโรคหรือเป็นจากสายตา ถ้าเป็นจากสายตาก็ตัดแว่น ถ้าเป็นโรคก็รักษา
– ตรวจความดันลูกตา ในคนอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์บ่อยๆ ต้องตรวจความดันลูกตาเสมอเพื่อดูว่าเป็นต้อหินหรือไม่
– ตรวจดูความใสของกระจกตาและแก้วตา ว่ามีการอักเสบหรือต้อกระจกหรือไม่
– ตรวจดูจอตาและประสาทตา ในคนที่มีโรคทางกายหรือกินยาประจำ ต้องดูว่ามีผลแทรกซ้อนจากโรคหรือจากยาต่อจอตาหรือขั้วประสาทตาหรือไม่ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน หรือกินยารักษาโรคภูมิแพ้ ยาต้านวัณโรคบางตัว
– ตรวจลานสายตา ในคนที่เป็นเนื้องอกในสมอง เส้นเลือดสมองตีบตัน หรือต้อหิน ลานสายตาจะแคบกว่าปกติ
– ตรวจระบบการสร้างและระบายน้ำตา ในคนตาแห้งหรือตาเปียกมีขี้ตา ต้องดูว่าท่อน้ำตาอุดตันหรืออักเสบหรือไม่
ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพตา?
- เด็กวัยก่อนเข้าเรียนและวัยเรียน
ควรตรวจสายตา และกล้ามเนื้อตา เพื่อดูว่าสายตาผิดปกติต้องใช้แว่นสายตาหรือไม่
บ่อยครั้งที่เราพบว่าเด็กวัยนี้สายตาผิดปกติแต่ไม่บอกผู้ปกครองทำให้มีปัญหาการเรียน หรือมีพฤติกรรมต้องหยีตาหรือปวดศีรษะบ่อยๆ - ผู้มีอาการทางตา
เช่น ปวดตา ปวดศีรษะบ่อยๆ ตามัว ตาแดง เห็นภาพซ้อน น้ำตาไหล ตาแฉะ ควรตรวจตาให้ละเอียดว่าเป็นโรคร้ายแรงอะไรหรือไม่ บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยเป็นต้อหิน ต้อกระจกซ่อนอยู่ - มีประวัติต้อหินในครอบครัว
หรือตาบอดไปข้างหนึ่งโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตรวจตาว่าเป็นต้อหินหรือไม่ เพราะโรคต้อหินเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ควรได้รับการตรวจความดันตาและประสาทตาในคนอายุ 35 ปีขึ้นไป - คนอายุ 40 ปีที่เริ่มมีปัญหาทางสายตา
ผู้สูงอายุที่ต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ แต่รู้หรือไม่ว่าคนวัยนี้มีโอกาสเป็นต้อหิน 1% ฉะนั้นก่อนจะตัดแว่นควรพาไปพบจักษุแพทย์ให้ตรวจตาก่อนทุกครั้ง - มีสายตาสั้นมากหรือยาวมาก
ควรตรวจตาประจำปี สายตาสั้นมากมีโอกาสเป็นต้อหินชนิดเรื้อรัง และจอตาฉีกขาดเป็นรูง่ายกว่าคนทั่วไป ส่วนพวกสายตายาวมากก็มีโอกาสเป็นต้อหินชนิดมุมปิดได้มาก การวัดความดันตาและการตรวจประสาทตาจึงมีความสำคัญอย่างมาก - ผู้มีโรคประจำตัว
เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรตรวจตาดูว่ามีผลแทรกซ้อนทางตาหรือไม่ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมานานปีแม้จะคุมเบาหวานได้ดีก็มีผลแทรกซ้อนทางตาได้ ผู้เป็นเบาหวานควรตรวจตาทุกปี และควรตรวจบ่อยขึ้นตามคำแนะนำของจักษุแพทย์เมื่อเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแล้วเพื่อรับการรักษาแต่เนิ่นๆ - ผู้ที่ต้องกินยาบางอย่างนานๆ
เช่น สเตียรอยด์รักษาโรคภูมิแพ้ เพราะมีโอกาสเป็นต้อกระจก และความดันตาขึ้นเป็นต้อหิน ยาคลอโรควินรักษาโรคไขข้อก็มีโอกาสเป็นจอประสาทตาส่วนกลางเสื่อม ยาต้านวัณโรคบางตัวก็อาจทำให้ขั้วประสาทตาอักเสบ ตามัวลงได้ - ใส่คอนแทคเลนส์ประจำ
ควรได้รับการตรวจตาทุก 3 เดือน ดูว่ามีการอักเสบของเยื่อบุตาหรือไม่เพื่อพิจารณาให้หยุดชั่วคราวและรักษาให้หายก่อนจึงกลับมาใช้ใหม่ มิฉะนั้นอาจเกิดการอักเสบของกระจกตาได้ - ผู้ที่ใส่แว่นตาอยู่แล้ว
ก็ควรได้รับการตรวจตาเช่นกัน เพราะแว่นที่ใช้อยู่อาจไม่ถูกต้องกับสภาพสายตาปัจจุบันของท่านก็เป็นได้
ที่มา: โรงพยายาบาลขอนแก่น ราม