ตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตในผู้สูงวัย กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน

ตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตในผู้สูงวัย
  • สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคความดันโลหิตสูง มักมาจากพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น การมีกิจกรรมทางกายน้อย การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ซึ่งมีส่วนประกอบของ โซเดียม (เกลือ) และไขมันสูง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
  • อาการในระยะเบื้องต้น จะไม่มีความผิดปกติให้สังเกตเห็น จนกระทั่งมีอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยในตอนเช้า  คลื่นไส้อาเจียน  ตามัว  อ่อนเพลียและใจสั่น ถ้ามีอาการมาก ผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้ หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน
  • การตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดและควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้อย่างเป็นสุข ลดการใช้ยา ลดค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว 

ร่างกายของคนเราก็เหมือนกับทุกชีวอินทรีย์ในโลก คือมีการเสื่อมสภาพไปตามอายุขัย ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุหรือวัยชรา ร่างกายย่อมเกิดการทำงานที่ผิดปกติ หรือด้อยประสิทธิภาพในการทำงาน อันเป็นเหตุก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นมาได้ง่าย อีกทั้งวัยสูงอายุนี้ก็เป็นวัยที่มีโอกาสเจ็บป่วยได้มาก หากใช้ชีวิตไม่ถูกสุขลักษณะ ทั้งในช่วงวัยชราเองหรือสะสมมาตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงาน กว่าจะรู้ตัวว่าผิดปกติ ก็เมื่อเริ่มแสดงอาการของโรคออกมาแล้ว

ผลสำรวจของกรมอนามัยล่าสุดในปี 2556 พบว่าปัญหาสุขภาพที่ผู้สูงอายุป่วยมากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งพบมากถึงร้อยละ 41 อีกทั้งโรคความดันโลหิตสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อการต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของผู้สูงอายุไทยอีกด้วย

ความน่ากลัวของโรคความดันโลหิตสูง คือการเป็นโรคที่ไม่มีสัญญาณเตือนหรือมีการแสดงให้เห็นมาตั้งแต่แรก จนมีคนขนานนามให้มันว่าเป็นเสมือน “ฆาตกรเงียบ” เพราะการไม่แสดงอาการชัดเจน ทำให้คนมักละเลยไม่สนใจ หรือในบางคนทราบว่าตนเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ก็ไม่กระตือรือร้นที่จะรักษา เพราะไม่รู้สึกเจ็บป่วยอะไรเด่นชัด ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมักรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง หรือเคยตรวจพบและรับการรักษา แต่ก็หยุดยาไปเองเมื่อเห็นว่ามีอาการดีขึ้น หรือเห็นว่าไม่เป็นอะไรมาก ยังสามารถทำมาหากินได้ตามปกติ ทั้งๆ ที่ความจริง โรคนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องตลอดเวลา

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมาจากปัจจัยการดำเนินชีวิต เช่น การมีกิจกรรมทางกายน้อย การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ซึ่งมีส่วนประกอบของโซเดียม (เกลือ) และไขมันสูง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ และเมื่อตรวจวัดความดัน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จะมีระดับความดันโลหิตตัวบน ตั้งแต่ 140 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และ/หรือความดันโลหิตตัวล่าง ตั้งแต่ 90 มิลลิเมตรปรอท ขึ้นไป

ปกติผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ตรวจพบโดยการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจพบโดยบังเอิญ เมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอยและมักเป็นในตอนเช้า เวียนศีรษะ ตาพร่า อ่อนเพลีย และเลือดกำเดาไหล

โรคความดันโลหิตสูงนั้น มีผลกระทบต่อหัวใจโดยตรง ทำให้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจโต หลอดเลือดหัวใจหนาและแข็งตัวขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย เท้าบวม นอนราบแล้วหายใจลำบาก และหัวใจเต้นผิดปกติ  รวมทั้ง มีผลกระทบต่อสมอง ทำให้ปวดศีรษะ ตาพร่า คลื่นไส้ อาเจียน  และเป็นอัมพาต  อีกทั้ง โรคไตเรื้อรัง ไตวาย และเสียชีวิตในที่สุด

ดังนั้น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จึงมีอาการที่ต้องเฝ้าระวัง และถือว่าต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดหรือให้ทันภายใน 3 ชั่วโมง เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น คือ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ปวดศีรษะมาก แขนขาอ่อนแรง เท้าบวม (อาการของโรคหัวใจล้มเหลว) เหงื่อออกมาก จะเป็นลม (อาการจากโรคหลอดเลือดหัวใจ)

ปัญหาที่คุกคามผู้ป่วย คือ การที่โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่ไม่ได้รับการรักษาไม่ใช่แค่ในตัวเมืองเท่านั้น แต่ยังมีผู้สูงอายุกลุ่มอื่นที่ไม่ได้อาศัยในตัวเมืองแต่ไม่ทราบว่าตนเป็นโรคความดันโลหิตสูงเนื่องจากความรู้น้อย และการเข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล หรือคลินิกเป็นไปอย่างยากลำบากด้วยสถานภาพทางเศรษฐกิจหรือความห่างไกลจากความเจริญ

ดังนั้น การตรวจพบแต่เนิ่นๆ ด้วยการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง จะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโดยเร็วและต่อเนื่อง จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ควบคู่กับการดูแลตนเองที่บ้านโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้อย่างเป็นสุข ลดการใช้ยา    ลดค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว

ปัจจุบัน โรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพของรัฐทุกแห่ง เปิดให้บริการตรวจคัดกรองโรค   ความดันโลหิตสูงในประชาชนทั่วไป อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ก็ควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคความดันโลหิตสูงอย่างน้อยปีละครั้ง

ที่มา: กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ใส่ความเห็น

Related Post